วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เครื่องปั้นดินเผา เกาะเกร็ด

ประวัติความเป็นมา
   การทำเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สืบทอดมาจากบรรพบุรุษชนชาติมอญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าคงจะมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่อยู่เมืองมอญก่อนที่จะอพยพเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมีความชำนาญในด้านนี้โดยเฉพาะ เมื่อชาวมอญได้รับพระบรมราชานุญาตตั้งบ้านเรือนบริเวณปากเกร็ด และพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพดินที่เหมาะสม คือ ดินมีความเหนียวดี สีนวลหรือปนเหลือง ไม่ดำเกินไป เนื้อดินจับกันเป็นก้อน ไม่ร่วนซุย เป็นดินที่พบได้บริเวณเกาะเกร็ด ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียง คือ หม้อน้ำลายวิจิตร ซึ่งทำขึ้นเพื่อถวายพระสงฆ์ และเป็นของกำนัลให้แก่ผู้ใหญ่ ทางราชการจึงถือเอาหม้อน้ำลายวิจิตรเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนนทบุรี
นอกจากนี้ยังมีรูปทรงอื่นๆอีกมากมาย เช่น โอ่ง อ่าง ครก กระปุก โอ่งพลู เป็นต้น หรือมีการพัฒนารูปแบบใหม่ เช่น โคมไฟดินเผาแกะสลัก เตาน้ำมันหอมระเหยแกะสลัก หม้อขมิ้นแกะสลัก แก้วกาแฟแกะสลัก ที่กรวดน้ำแกะสลัก เป็นต้น
   เครื่องปันดินเผาเกาะเกร็ด เกือบจะสูญหายไปเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ในราวปี พ.ศ. 2539 ชาวบ้านได้รวมตัวขึ้นอีกครั้งเพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ประกอบกับในขณะนั้นนักท่องเที่ยวได้เข้ามาท่องเที่ยวบริเวณเกาะเกร็ด จึงทำให้เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้ง และในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย
   เครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญเกาะเกร็ดในอดีตมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ทำขึ้นไว้ใช้เองและไว้ขาย  และเครื่องใช้ประเภทสวยงามที่ทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อมอบให้บุคคลสำคัญหรือไว้ใช้เองในโอกาสพิเศษ ปัจจุบันจะทำเครื่องปั้นดินเผาประเภทของใช้ในครัวเรือนเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปและของใช้ประเภทสวยงามต่างๆเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวอีกประเภทหนึ่ง
   เครื่องปั้นดินเผาบ้านเกาะเกร็ดทำสืบทอดต่อกันมานานนับร้อยปี เป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อเครื่องดินไม่เคลือบมีความพรุนตัวมาก (Earthenware ) สีส้มอ่อนจนถึงสีแดงที่เป็นสีดำมีบ้างเล็กน้อย เครื่องปั้นดินเผาสีดำนี้ดินที่ใช้ปั้นจะผสมแกลบลงไปในเนื้อดินและเผาด้วยไฟแรงสูงมาก รูปทรงได้สัดส่วนสวยงามทั้งเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่และขนากเล็กจะตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตร ด้วยอุปกรณ์ในการตกแต่งลวดลายซึ่งชาวมอญเกาะเกร็ดตั้งแต่ครั้งโบราณจะนำเอา หนามทองหลางป่า มาแกะเป็นลายสวยงามใช้เป็น แม่ลาย สำหรับกดลงบนผิวภาชนะให้เกิดลาดลายสวยงามตามแม่ลาย  นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นไม่เหมือนที่ใดและจากลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของหม้อน้ำดินเผาที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จึงเลือกหม้อน้ำดินเผาแกะสลักลายของเกาะเกร็ดเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
   ลักษณะเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญเกาะเกร็ดที่ถือว่าสวยงามโดยทั่วไปขอบปากจะกลมกลึงเหมือนกระบอกไม้ไผ่ผ่าครึ่ง ไหล่ผายออกลาดโค้งลงมาที่ก้น ทำเส้นลวดลายเน้นที่ขอบและไหล่เครื่องปั้น ตกแต่งลวดลายที่ผิวภาชนะตั้งแต่ไหล่จนถึงก้นมักจะไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง  โดยเฉพาะภาชนะก้นกลมจะฉลุลวดลายอย่างวิจิตรงดงามด้วย ส่วนภาชนะก้นตัดซึ่งสามารถตั้งได้โดยไม่ต้องใช้ขารองจะเน้นลวดลายที่ก้นเป็นพิเศษ นอกจากลวดลายที่ไหล่และก้นแล้วที่ฝาก็ตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตรให้เข้ากับส่วนตัวและฐาน เรียกว่า ทรงเครื่อง
 ความสัมพันธ์กับชุมชน
   ฝีมือ แรงงาน คือ คนในชุมชนอย่างแท้จริง ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้คนชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติพี่น้อง มีการรวมกลุ่มเตรียมสมาชิกให้ได้รับความรู้ทั้งด้านการปั้น การแกะ ตลอดจนการเผา และช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในการพัฒนาภูมิปัญญา

แหล่งการเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผา : เป็นกิจการของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายมอญครอบครัวหนึ่ง สร้างผลงานชิ้นใหญ่ๆได้สวยงาม สิ่งซึ่งแปลกตากว่าที่อื่นๆก็คือ ครอบครัวนี้ทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปและลวดลายตามศิลปะไทย    เช่น แกะสลักเครื่องปั้นดินเผาเป็นลายกนก โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOPได้จัดให้ที่แห่งนี้เป็นบ้านสาธิตการแกะสลักเครื่องปั้นดินเผา เตาเผาโบราณ: สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐ เลิกใช้งานเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ ปัจจุบันเป็นซากเก่าแก่หักพัง นักท่องเที่ยวอยากเห็นและถ่ายภาพ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอดีตซึ่งยังเหลือให้เห็นอยู่     เตาหลังเต่า: เป็นเตาซึ่งเคยใช้เผาเครื่องปั้นดินเผา สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๕ เลิกใช้งานเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๐ เรียกกันมาว่า เตาหลังเต่า เพราะหลังคาเตามีรูปร่างโค้งเหมือนหลังเต่า   ลานควาย: เป็นลานกว้าง ซึ่งจะมีการสาธิตการย่ำดิน เพื่อนำไปใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผา กระบวนการเป็นแบบดั้งเดิม คือคนควบคุมควายให้ย่ำดินก่อน แล้วจากนั้น คนจึงค่อยย่ำดินเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา  เกาะเกร็ด จึงมี จุดเด่น อย่างหนึ่งคือ มีทัศนียภาพที่สวยงาม ทางธรรมชาติ เกาะเกร็ด มีผู้คน อยู่อาศัยเป็นชุมชนมา ตั้งแต่สมัยอยุธยา และในวันนี้ เกาะเกร็ด ก็ยังคง ลักษณะชุมชน กึ่งเมืองกึ่งชนบทเอาไว้ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ เกาะเกร็ด คือ เป็นชุมชนซึ่งติดต่อ กับชุมชนอื่นได้เฉพาะทางน้ำ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น